โรคทางพันธุกรรม การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ไปสู่ลูกหลาน และทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ซึ่งนอกจากลักษณะทางกายภาพที่ลูกจะได้มาจากพ่อและแม่ จะมีอไรบ้างมาอ่านกันเลย
โรคทางพันธุกรรม
การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ไปสู่ลูกหลาน และทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ซึ่งนอกจากลักษณะทางกายภาพที่ลูกจะได้มาจากพ่อและแม่แล้ว หากเกิดความผิดปกติขึ้นในระบบดีเอ็นเอ ก็จะส่งผลให้ยีนเกิดความผิดปกติ หรือทำให้ยีนนั้นกลายพันธุ์
ซึ่งถ้าหากยีนนั้นเกิดการกลายพันธุ์แม้เพียงแค่นิดเดียวในพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่ ลูกก็อาจจะได้รับเอาโรคทางพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่มาด้วย โรคที่เกิดขึ้นทางพันธุกรรมสามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานและก่อนการมีบุตรเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกัน โรคทางพันธุกรรมได้
โรคทางพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย
1. ดาวน์ซินโดรม
โรคดาวน์ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาทั้งโครโมโซมหรือบางส่วน ความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดคือ การมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง โดยเกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติ (Nondisjunction) เรียกว่า Trisomy 21 ซึ่งพบร้อยละ 95 ของโรคดาวน์ซินโดรม ทั้งหมด
ความเสี่ยงในการเกิดโรค
- แม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี และยิ่งอายุของแม่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น
- แม่ที่เคยมีประวัติคลอดบุตรคนก่อนเป็นดาวน์ซินโดรม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม เช่น พี่น้อง หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด
- ผลตรวจอัลตราซาวน์ที่บ่งชี้ว่าเป็นดาวน์ซินโดรม เช่นลิ้นโตกว่าปกติ ทารกมีขาสั้น
2. โรคตาบอดสี
โรคตาบอดสี เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง ซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม X และมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ X-linked recessive จากแม่ไปสู่บุตรชาย
ทำให้เพศชายถ้ามีหน่วยพันธุกรรม X ที่ทำให้เกิดตาบอดสี ก็จะแสดงอาการของตาบอดสีออกมา ในขณะที่เพศหญิงถ้าหน่วย X นี้ผิดปกติหนึ่งหน่วย ก็ยังสามารถมองเห็นได้ปกติ
ลักษณะอาการตาบอดสี คือ จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวกับสีแดง หรือสีน้ำเงินกับสีเหลืองได้ โดยเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
3. โรคธาลัสซีเมีย
เกิดจากความผิดปกติของยีน (Gene) ทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) เรื้อรังตั้งแต่กำเนิดไปจนตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคธาลัสซีเมีย แบ่งตามความรุนแรงของอาการ ได้ 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia disease)
- มีอาการของภาวะโลหิตจาง ได้แก่ ซีด เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมบ่อย โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ใจสั่น ตรวจร่างกายอาจพบภาวะ ตับม้ามโตได้
- มีการขยายตัวของกระดูกหน้าผากและกรามบน ทำให้ใบหน้าแบน กระโหลกศีรษะหนาที่เรียกว่า thalassemia facies
- การเจริญเติบโตไม่สมวัย
- ถ้ามีความผิดปกติรุนแรง เช่น Hb Bart hydrops fetalis จะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้แก่ อาการบวมทั้งตัว ท้องโต ตับโตมาก รกขนาดใหญ่มาก ซึ่งทำให้เสียชีวิตตั้งแต่ตอนคลอดได้
- กลุ่มที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia trait)
เกือบทั้งหมดของผู้ที่เป็นพาหะของโรค จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป แต่มียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่ในร่างกายและอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกได้
4. โรคลูคิเมีย (Leukemia) หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
เป็นโรคที่เกิดจากไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมามากและมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งนี้ยังสามารถแพร่กระจายแทรกซึมไป ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดโรคลูคิเมีย (Leukemia)
- พันธุกรรม
- สารทึบรังสี
- สารเคมี
- ยาเคมีบำบัด
- โรคไขกระดูกบางชนิด
อาการของโรคลูคิเมีย (Leukemia)
เนื่องจากโรคลูคิเมีย มีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เกิดอาการดังนี้
- การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการจากภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หน้าซีด หน้ามืด
- การสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การสร้างเกล็ดเลือดลดลง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย อาจพบจุดเลือดออกหรือจุดจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะเลือดหยุดยาก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลูคิเมีย อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนตามตัวหรือมีอาการปวดกระดูกได้
5. โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis)
โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis) เป็นโรคที่เกิดจากเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซม คู่ที่ 7 ของยีน cystic fibrosis transmembrane regulator (CFTR) ความบกพร่องที่เกิดขึ้นในยีน CFTR โดยยีนชนิดนี้จะทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่ควบคุมการเคลื่อนตัวของเกลือและน้ำ ที่เข้าและออกจากเซลล์ร่างกาย ถ้ายีนที่สร้างโปรตีนชนิดนี้ทำงานผิดปกติ จะก่อให้เกิดเมือกข้นเหนียวผิดปกติ และเหงื่อที่มีรสเค็มมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดการอุดตันในหลายอวัยวะ ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติและแสดงอาการต่างๆตามหน้าที่การทำงานของอวัยวะเหล่านั้น ตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอดชีวิต เช่น
- อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด (เสียงดังวี๊ดๆ จากหลอดลมตีบ) คัดจมูก แน่นจมูก ตลอดเวลา
- อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกรุนแรง อาหารไม่ย่อย ลำไส้อุดตัน ปาก/คอแห้งมาก
- อาการทางตา เช่น ตาแห้งมาก นอกจากนั้นยังส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้น เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ
โรคซิสติกไฟโบรซิสนี้ จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งยังไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง เช่น การกำจัดเสมหะ ด้วยการดื่มน้ำมากๆ การทำกายภาพปอด การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นครั้งคราวเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เป็นต้น